ฟุตบอลโลก 2022 จับฉลากแบ่งสายกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้หนนี้จะไม่ชัดเจนนักว่ากลุ่มไหนเป็น “กรุ๊ป ออฟ เดธ” หรือกลุ่มที่มีทีมแข็งๆมารวมตัวกันจนมองโอกาสเข้ารอบไม่ออก
อย่างไรก็ตาม ในความธรรมดานี้มีหลากหลายเรื่องราวซ่อนอยู่ในแต่ละกลุ่ม บางทีมมีประวัติซัดกันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่า บางคู่แผลยังสดใหม่จำฝังใจรอวันล้างแค้น และนี่คือสตอรี่ที่ซ่อนอยู่ในแต่ละคู่ของรอบแบ่งกลุ่ม ถ้าคุณอยากดูเวิลด์คัพฉบับกาตาร์ให้สนุกขึ้น
กานา vs อุรุกวัย
หลังจบการจับฉลากแบ่งสายฟุตบอลโลก 2022 และ กานา ได้อยู่สายเดียวกับ อุรุกวัย เคิร์ต โอคราคู ประธานสมาคมฟุตบอลกานา ได้ให้สัมภาษณ์ด้วยความตื่นเต้นว่า “ถึงเวลาแก้แค้นของพวกเราแล้ว” นั่นทำให้เราแน่ใจได้ว่าชาวกานายังจำฝังใจไม่มีวันลืมอย่างแน่นอนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฟุตบอลโลก 2010
ฟุตบอลโลก 2010 ที่ แอฟริกาใต้ เป็นปีที่ กานา เล่นได้ดี มีคุณสมบัติของม้ามืดเต็มรูปแบบ มิโลวาน ราเยวัช กุนซือชาวเซอร์เบีย วางระบบการเล่นของทีมมาอย่างรัดกุม ใช้เกมฟุตบอลตั้งรับแล้วสวนกลับ ดึงเอาคุณสมบัตินักเตะเด่นของกานาอย่าง “ความเร็วและความแข็งแรง” ออกมาใช้ได้อย่างมีประโยชน์
นาทีนั้นใครเจอ กานา ก็ต้องปวดหัว แม้กระทั่ง เยอรมนี ที่เจอกันในรอบแบ่งกลุ่มยังต้องลิ้นห้อยกว่าจะได้ประตูชัยจาก เมซุต โอซิล ในครึ่งชั่วโมงสุดท้ายของเกม (ชนะ 1-0) นอกจากนี้ ยังผ่านทีมแกร่งอย่าง เซอร์เบีย และ ออสเตรเลีย เข้ามาแบบน่าชื่นชม
พวกเขาผ่าน สหรัฐอเมริกา มาได้ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย และเตรียมลงเล่นเกมประวัติศาสตร์ของชาติในการเจอกับ อุรุกวัย ทีมแกร่งจากโซนอเมริกาใต้ที่นำโดย 3 ประสานที่ดีที่สุดในทัวร์นาเมนต์นั้น หลุยส์ ซัวเรซ, เอดินสัน คาวานี่ และ ดิเอโก ฟอร์ลัน
หากกานาผ่านอุรุกวัยไปได้ พวกเขาจะเป็นทีมจากทวีปแอฟริกาทีมแรกที่ทะลุเข้าไปถึงรอบตัดเชือก แต่อย่างที่หลายคนรู้กัน ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ไม่เกิดขึ้น เพราะ หลุยส์ ซัวเรซ ใช้มือปัดลูกโหม่งที่กำลังจะข้ามเส้นของ โดมินิค อาดิเยียห์ ในช่วงนาทีสุดท้ายของช่วงต่อเวลาพิเศษ
แม้การกระทำครั้งนี้จะทำให้ ซัวเรซ โดนใบแดงและทีมต้องเสียจุดโทษ แต่มันก็คุ้มค่า เมื่อ อซาโมอาห์ กียาน คนรับหน้าที่สังหารตัดสินชะตาชีวิตของทั้งสองทีมกลับยิงข้ามคานออกไป และท้ายที่สุดกานาก็แพ้อุรุกวัยในการดวลจุดโทษ
แพ้แบบน่าเจ็บใจยังไม่พอ หลังจบเกม หลุยส์ ซัวเรซ ถูกเพื่อนนักเตะอุรุกวัยแห่เป็นพระเจ้าที่กลางสนาม นักเตะกานาได้แต่นั่งมองการฉลองที่พวกเขาไม่มีทางรับได้ หนำซ้ำ ซัวเรซ ยังยืนยันหลังเกมว่าเขาดีใจมากๆที่ตัดสินใจยื่นมือไปปัดลูกบอล
“นี่คือหัตถ์พระเจ้าของผมที่ช่วยเปลี่ยนให้เราได้ผลการแข่งขันที่ดีที่สุด ในการซ้อมบางครั้งผมรับบทผู้รักษาประตูแล้วผมก็ทำแบบนี้ ดังนั้น ถามว่ามันคุ้มค่าไหม? ตอนนั้นผมตอบไม่ได้หรอก แต่ผมจะทำอะไรได้มากกว่านั้น ไม่เหลือทางอื่นแล้ว และเมื่อกานาพลาดจุดโทษ ผมบอกได้คำเดียวว่านี่มันคือปาฏิหาริย์ มือของผมทำให้เรายังอยู่ในทัวร์นาเมนต์ที่ยิ่งใหญ่นี้” ซัวเรซ กล่าวแบบสุดแสบ
ส่วนกานาก็ตกรอบไปอย่างเจ็บช้ำระกำทรวง ชนิดที่ว่าไปถามสมาชิกคนไหนในทีมก็ได้ในทีมชุดนั้นทุกคนก็จะตอบตรงกันว่า “เจ็บจนวันนี้” ยิ่งกว่าเพลงของบอดี้สแลม
“โปรดจงเชื่อผม ต่อให้วันนี้จะผ่านมาเป็น 10 ปี แต่ผมก็ยังสลัดภาพการตกรอบแบบนั้นออกไปจากหัวไม่ได้ ก้าวเดียวแท้ๆ พวกเรากำลังจะได้เป็นประวัติศาสตร์ของแอฟริกัน” มิโลวาน ราเยวัช กล่าวแบบสุดเซ็ง แม้จะผ่านมาหลายปีแล้วก็ตาม
ไม่ต้องถามถึงชาวกานา ทุกวันนี้ซัวเรซเปรียบเสมือนซาตานและคู่แค้นที่รอวันสะสาง เรื่องนี้ซัวเรซก็รู้ดี เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2021 ว่าเขายังไม่เคยเดินทางไปในทวีปแอฟริกาเลย และถ้าเลือกได้ก็ขออยู่ห่างไว้ก่อนดีกว่า
“ผมไม่มีวันไปแอฟริกาแบบตัวคนเดียวแน่นอน ต่อให้วันนึงต้องเป็นโค้ชฟุตบอลก็ขอไปเป็นโค้ชที่อื่นที่ไม่ใช่ที่นั่นก็แล้วกัน” ซัวเรซ กล่าวแบบติดตลก ซึ่งดูเหมือนว่าทุกวันนี้ กานาน่าจะยังไม่ตลกด้วย และรอถอนแค้นในฟุตบอลโลก 2022 แบบใจจดใจจ่อแน่นอน
อังกฤษ vs สหรัฐอเมริกา
สองชาติที่ถือว่ามีความสนิทชิดเชื้อร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 อย่าง อังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา ทั้งคู่เองก็มีมุมที่ไม่ถูกคอถูกใจ แต่ก็ต้องจับมือปั้นหน้ายิ้มทำตามหน้าที่กันในหลายๆกรณี ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องของฟุตบอล ที่ทุกวันนี้คนอังกฤษยังบอกว่า “ฟุตบอลของข้าคือของจริง” ส่วน “ฟุตบอลแบบอเมริกัน” น่ะเรอะ?.. ไปตั้งชื่อใหม่ซะดีกว่า
เพราะในเมื่อ ฟุต แปลว่าเท้า บอล แปลว่าอุปกรณ์ทรงกลมแท้ๆ แต่อเมริกันฟุตบอลซึ่งคนอเมริกันเรียกมันว่า ฟุตบอล กลับใช้มือเล่นเป็นหลัก และลูกอเมริกันฟุตบอลยังเป็นทรงรีคล้ายไข่ นั่นทำให้อังกฤษยังล้อเลียนเสมอว่า ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสไตล์ของคนอังกฤษที่ไม่ยอมอะไรง่ายๆ เพราะแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเรียกฟุตบอล (ที่ใช้เท้าเตะ) ว่า “ซอคเกอร์” ซึ่งคำนี้คนอังกฤษยังเป็นผู้คิดค้นขึ้นมาอีกด้วย แต่อิงลิชชนก็ยังหัวเราะเยาะกับคำว่า ซอคเกอร์ อยู่ดี
ดังนั้น แมตช์ที่ทั้งสองทีมจะต้องเจอกันในฟุตบอลโลก 2022 ก็น่าจะเป็นเกมที่ต้องมีฝ่ายหนึ่งที่เตรียมตัวต้องโดนล้อหลังเกมจบแน่นอนหากมีผลแพ้ชนะเกิดขึ้น ยิ่งถ้าอังกฤษแพ้ รับรองได้ว่าวลี ของพวกเขาต้องสั่นสะเทือนแน่นอน
เรื่องความ “แอบขิง” ใส่กันเล็กๆของ อังกฤษ และ อเมริกา เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเกมฟุตบอลโลกหญิง 2019 ในเกมนั้น สหรัฐอเมริกา เอาชนะ อังกฤษ ได้จากการยิงประตูชัยของของ อเล็กซ์ มอร์แกน และแสดงท่าดีใจด้วยท่า “จิบชา”
ท่าดีใจนี้ถูกตีความไปยังเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 300 ปีก่อน กับ “กฎหมายชา” ซึ่งค่อนข้างจะซับซ้อน ดังนั้น เราจึงขอสรุปว่า อังกฤษทำการค้าแบบขูดรีดกับสหรัฐอเมริกาที่ในอดีตเคยเป็นเมืองขึ้น ความขัดแย้งนำไปสู่การปิดท่าเรือบอสตันที่เป็นทำเลทองในการส่งออกสินค้าของอเมริกา ทำให้ชาวอเมริกันไม่พอใจจนเกิดการแข็งข้อ เรื่องนี้ใหญ่จนขนาดที่ว่ากลายเป็นสงครามปฏิวัติ ก่อนลงเอยด้วยการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาในวันที่ 4 กรกฎาคม 1776
วัวเคยค้า ม้าเคยขี่ แต่ก็มีประเด็นซ่อนอยู่มากมาย และนี่คือความน่าสนใจของเกมระหว่าง อังกฤษ กับ สหรัฐอเมริกา ในฟุตบอลโลก 2022 นี้
สหรัฐอเมริกา vs อิหร่าน
สหรัฐอเมริกา และ อิหร่าน คือสองชาติที่มีปัญหาด้านความความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากที่สุดคู่หนึ่งของโลก ความขัดแย้งของสองประเทศนำไปสู่เหตุการณ์ทางการเมืองมากมาย ทั้งการบุกจับตัวประกันไปจนถึงสงครามตัวแทน
ต้นเหตุเกิดขึ้นก่อนยุค 80s เนื่องจากประชาชนชาวอิหร่านมีความไม่พอใจสหรัฐอเมริกามาอย่างยาวนาน เพราะมองว่ามหาอำนาจจากตะวันตกพยายามเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง นำมาซึ่งการปฏิวัติอิหร่าน เปลี่ยนประเทศให้เป็นรัฐอิสลาม และเปิดโอกาสให้อิหร่านสามารถดำเนินความสัมพันธ์ทางการฑูตแบบไม่เอาอเมริกาได้อย่างเต็มที่
ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติย่ำแย่สุดขีดหลังจากกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงได้ทำการบุกยึดสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน พร้อมกับจับชาวอเมริกัน 52 คนไว้เป็นตัวประกันนานถึง 444 วัน (เรื่องนี้ต่อมาถูกนำมาถ่ายทอดบนแผ่นฟิล์มกับภาพยนตร์ ซึ่งคว้ารางวัลออสการ์) ทำให้สหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรทางการค้ากับอิหร่าน ขณะที่ชาติยักษ์ใหญ่แห่งตะวันออกกลางไม่สะทกสะท้าน พร้อมกับประกาศให้สหรัฐฯ เป็นศัตรูทางศาสนาของพวกเขา และเป็นชาติที่ถูกปกครองด้วยแนวคิดบูชาซาตาน
อย่าคิดว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับฟุตบอลโลกเชียว เนื่องจากความตึงเครียดและมุมมองแง่ลบที่มีต่อกันและกันอย่างหนัก มันเหมือนกับฟ้าเล่นตลกที่ในฟุตบอลโลก 1998 ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ อิหร่าน ถูกจับให้ไปอยู่สายเดียวกับ สหรัฐอเมริกา
ในเกมที่ทั้งสองทีมเจอกันเป็นช่วงที่สถานการณ์ยังคุกรุ่น รัฐบาลอิหร่านประกาศว่าจะไม่ยอมให้นักเตะของพวกเขาเป็นฝ่ายเดินเข้ามาจับมือกับนักเตะอเมริกา จนทำให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือต้องร้องขอให้นักเตะอเมริกาเป็นฝ่ายเดินเข้าหาอิหร่านเพื่อจับมือ และอเมริกาก็ยอมรับข้อนั้นจนนำมาซึ่งภาพที่งดงามหลังจากนั้นด้วยการที่นักเตะอิหร่านมอบดอกกุหลาบให้กับนักเตะของสหรัฐฯ และมีการถ่ายรูปหมู่ร่วมกัน ซึ่งผลการแข่งขันจบลงด้วยชัยชนะของอิหร่าน ด้วยสกอร์ 2-1 และเป็นชัยชนะนัดแรกของอิหร่านในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
แม้ทุกอย่างดูจะไปได้สวย แต่บนอัฒจันทร์ได้มีการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองมากมายจากประชาชนของทั้งสองชาติ เป็นการแสดงออกว่าพวกเขาจะไม่ยอมรับอีกฝ่ายเป็นมิตรอย่างแน่นอน บรรยากาศความขัดแย้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับแฟนบอล แต่รวมถึงนักฟุตบอลด้วยเช่นกัน แม้ฉากเบื้องหน้าจะงดงาม แต่ผู้เล่นและทีมงานของทั้งสองประเทศมองว่าเกมในวันนั้นคือสงคราม และไม่มีฝ่ายไหนอยากจะเป็นมิตรกับอีกฝ่ายแม้แต่นิดเดียว
“การพ่ายแพ้ต่ออิหร่านคือความพ่ายแพ้ที่แย่ที่สุดในชีวิตการทำงานของผม ผมไม่ได้เจ็บปวดเพราะเราเล่นได้แย่ แต่ผมเจ็บปวดที่เราแพ้ให้กับคนไร้มนุษยธรรมพวกนั้น พวกเขาสั่งสอนเราอย่างน่าอับอาย” แฮงค์ สไตน์เบรเชอร์ ผู้จัดการทีมสหรัฐฯ ในช่วงฟุตบอลโลก 1998 ว่าไว้เช่นนั้น
ถึงตอนนี้สถานการณ์ระหว่างอิหร่านและอเมริกาก็ยังคงไม่ลงรอยกันเหมือนเดิมหลังจากผ่านมา 24 ปีจากตอนฟุตบอลโลก 1998 คำตอบที่เรารออยู่อาจจะอยู่ในสนามว่าพวกเขาญาติดีและเปิดใจยอมรับกันมากขึ้นแค่ไหน? จะมีประเด็นหรือข้อแม้อะไรตามมาอีกหรือไม่? นี่คืออีกเกมที่ควรจับตามองอย่างแท้จริง
เยอรมนี vs ญี่ปุ่น
มีคำกล่าวว่า ฟุตบอลญี่ปุ่นเหมือนกับฟุตบอลเยอรมันในแบบฉบับที่ลดคุณภาพลงมา เนื่องจากเป็นฟุตบอลที่อาศัยศักยภาพทางร่างกาย ความฟิต ระเบียบวินัย และระบบที่ชัดเจนที่ความรับผิดชอบของผู้เล่นต้องมาเต็ม นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมลีกเยอรมันจึงเป็นลีกฟุตบอลที่มีนักเตะญี่ปุ่นไปค้าแข้งอยู่มากมาย นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีนักเตะระดับทีมชาติญี่ปุ่นชุดใหญ่ถึง 38 คนที่เคยลงเล่นในเวทีสูงสุดของเยอรมันอย่าง บุนเดสลีกา
เรื่องนี้อาจต้องย้อนไปถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ตอนที่เยอรมนีถูกเรียกว่า ปรัสเซีย พวกเขามีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและนวัตกรรมกัน จนกระทั่งเรื่องราวเดินทางมาถึงช่วงปี 1930 เป็นต้นมา ความสนิทสนมก็เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทั้งสองประเทศมีทัศนคติตรงกันหลายเรื่องทั้งเรื่องการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ และแนวคิดอื่นๆ รวมถึงฟุตบอลด้วย
คนญี่ปุ่นชื่นชมคนเยอรมันเป็นอย่างมากและชื่นชมมานานแล้ว โดยในช่วงปี 1970 มีผลสำรวจทัศนคติของชาวญี่ปุ่นต่อชาวต่างชาติระบุว่าชาวเยอรมันเป็นกลุ่มชนที่ “เฉลียวฉลาดและขยันขันแข็ง” ที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับทัศนคติของชาวญี่ปุ่นต่อชนชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวยุโรปหรือแอฟริกัน เรียกง่ายๆก็คือ ชาวเยอรมัน คือแชมป์ชาวต่างชาติในสายตาชาวญี่ปุ่นก็คงไม่ผิดนัก
ดังนั้น เราจึงได้เห็นฟุตบอลญี่ปุ่นขับเคลื่อนและมีวิธีการเล่น รวมถึงมีแนวคิดและทัศนคติคล้ายกับฟุตบอลเยอรมันที่เชื่อมั่นในความเป็นทีม การเล่นเป็นระบบ มีหัวใจนักสู้ ขยันทุ่มเท และนักเตะญี่ปุ่นหลายคนก็มองมาที่ลีกเยอรมันก่อนเสมอหากพวกเขาต้องย้ายออกมาค้าแข้งในต่างแดน
“นักเตะญี่ปุ่นไม่ใช่พวกที่จะลงสนามแล้วลงไปทำอะไรแบบสุ่มสี่สุ่มห้า เราพยายามเล่นอย่างมีระเบียบวินัยคล้ายกับนักเตะเยอรมันนั่นแหละ สำหรับนักเตะญี่ปุ่นไม่มีวินาทีไหนที่เรารู้สึกว่า ‘สมาธิหลุดจากเกม’ เลย คุณก็น่าจะเห็นว่ามีนักเตะญี่ปุ่นจำนวนมากมาที่นี่” อัตสึโตะ อุชิดะ อดีตกองหลังของ ชาลเก้ 04 และ ยูนิโอน เบอร์ลิน เล่าถึงวิธีการเล่นบอลของเขา
“นักเตะญี่ปุ่นสนใจและติดตามฟุตบอลเยอรมันมานาน เราต้องการออกมาแล้วเผชิญกับความท้าทาย และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมมาที่นี่”
เรื่องนี้เว็บไซต์หลักของบุนเดสลีกายังเคยลงบทความที่มีชื่อว่า ทำไมญี่ปุ่นจึงเข้ากันได้ดีกับฟุตบอลเยอรมัน? พวกเขาได้ให้ข้อสรุปไว้ว่า “ผู้เล่นชาวญี่ปุ่นจะเข้ากันได้ดีกับฟุตบอลเยอรมัน เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้โดดเด่นในการเล่นเป็นทีม เชื่อมั่นในวิธีการ และผสานรวมกับคนอื่นได้ง่าย พวกเขาฝึกฝนอย่างหนัก แสดงวินัยที่ยอดเยี่ยม ไม่ดื่ม ไม่สูบ และไม่เต้นรำคืนก่อนเกมนัดสำคัญ”
ในฟุตบอลโลก 2022 นี้ เก่งเล็กจะได้มาเจอกับเก่งใหญ่ เราคงได้เห็นความเข้มข้นและเกมคุณภาพสูงจากญี่ปุ่นและเยอรมันอย่างแน่นอน
เม็กซิโก vs อาร์เจนตินา
เรื่องนี้ไม่ได้มีประเด็นดราม่าการเมืองอะไรมากมายนัก แต่การแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 1986 ที่ เม็กซิโก เป็นเจ้าภาพ คือความทรงจำที่ดีที่สุดของวงการฟุตบอลอาร์เจนตินา ที่ ณ เวลานั้นนำทัพโดย ดิเอโก มาราโดนา ตำนานผู้ล่วงลับของพวกเขา
มาราโดนา ทำ 2 ประตูที่ยังคลาสสิกที่สุดจนถึงทุกวันนี้ในเกมรอบ 8 ทีมสุดท้าย ที่ อาร์เจนตินา ชนะ อังกฤษ ประตูหนึ่งมาจากการลากหลบนักเตะอังกฤษครึ่งทีมตั้งแต่ในแดนตัวเองจนถึงการส่งบอลเข้าประตู และอีกประตูมาจากการใช้มือกระโดดปัดบอลเข้าประตู ก่อให้กำเนิดตำนาน “แฮนด์ ออฟ ก็อด” ก่อนที่อาร์เจนตินาจะปิดทัวร์นาเมนต์ด้วยการก้าวขึ้นไปเป็นแชมป์โลกอย่างยิ่งใหญ่
นอกจาก อาร์เจนตินา จะมีความทรงจำที่ดีในประเทศเม็กซิโกเมื่อปี 1986 แล้ว ในฟุตบอลโลก 2010 อาร์เจนตินา ที่คุมทีมโดย มาราโดนา คนเดิมในฐานะใหม่ก็ได้ฝากเรื่องราวมากมายที่น่าจดจำเอาไว้ เช่นการให้สัมภาษณ์ที่ดุเด็ดเผ็ดมัน รีแอ็กชั่นต่างๆในการแข่งขันที่เป็นไฮไลต์หนึ่งของทัวร์นาเมนต์
โดยในเกมที่เห็น มาราโดนา สะใจสุดๆก็คือเกมที่ อาร์เจนตินา เอาชนะ เม็กซิโก 3-1 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ซึ่งเกมดังกล่าวยังถือเป็นชัยชนะนัดสุดท้ายของมาราโดนาในฐานะกุนซือทัพฟ้า-ขาวอีกด้วย เพราะหลังจากไปแพ้ให้กับ เยอรมัน 0-4 จนตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายไปอย่างน่าเสียดาย มาราโดนา ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งและไม่ได้กลับมาคุมเกมทีมชาติอีกเลย
และสุดท้ายท้ายสุด ต้องไม่ลืมว่า สโมสรลำดับท้ายๆในการคุมทีมของมาราโดนาก่อนเสียชีวิตอย่างกะทันหันเมื่อปลายปี 2020 ก็คือทีมในประเทศเม็กซิโกอย่าง โดราโดส ซินาลัว ที่แม้เป็นทีมในลีกรองและไม่อาจพาทีมเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดได้ แต่มาราโดนาก็กลายเป็นพระเจ้าในรัฐซินาลัวที่ถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในเมืองหลวงแห่งยาเสพติดของโลก
บราซิล, สวิตเซอร์แลนด์ และ เซอร์เบีย
ไม่ใช่แค่การดวลกัน 1-1 แต่ต้องบอกว่าเป็นการซัดกันนัว เมื่อ บราซิล สวิตเซอร์แลนด์ และ เซอร์เบีย ถูกจับให้มาอยู่ในกลุ่มเดียวกันอีกครั้งในฟุตบอลโก 2022 หลังจากฟาดฟันกันมาในรอบแบ่งกลุ่มมาตั้งแต่ฟุตบอลโลกปี 2018 ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ
ในครั้งนั้น 4 ชาติมี บราซิล, เซอร์เบีย, สวิตเซอร์แลนด์ และ คอสตาริกา อยู่ในกลุ่ม E เมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งรอบนั้นจบลงด้วยการที่ บราซิล คว้าแชมป์กลุ่ม ส่วน สวิตเซอร์แลนด์ คว้าอันดับ 2 เข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายไปได้สำเร็จ โดยในครั้งที่แล้ว เซอร์เบีย แพ้ สวิตเซอร์แลนด์ ไป 1-2 ทำให้พวกเขาต้องตกรอบไปในเกมสุดท้าย และนั่นอาจทำให้การแข่งขันกลุ่มนี้เข้มข้นขึ้นมากกว่าที่หลายคนคิด
ทว่าครั้งนี้อาจจะไม่ง่ายนัก เพราะแม้ บราซิล จะเป็นเต็งเข้ารอบ แต่พวกเขาต้องเจอกับทีมจอมตื๊อแพ้ยากอย่าง สวิส ที่เป็นตัวการหลักที่ทำให้ อิตาลี ต้องตกรอบคัดเลือกในฟุตบอลโลกครั้งนี้ เช่นเดียวกับ เซอร์เบีย ที่เขี่ย โปรตุเกส ให้เป็นรองแชมป์กลุ่มในรอบคัดเลือกจนต้องไปเตะเพลย์ออฟมาแล้ว