ทันทีที่เห็นป้ายไฟเปลี่ยนตัว ปรากฏหมายเลข 7 ขึ้นที่ข้างสนาม เสียงปรบมือเริ่มดังกึกก้องไปทั่วเวมบลีย์ เพราะเป็นสัญญาณแห่งความหวังของแฟนๆ สิงโตคำราม
แจ็ค กรีลิช เพลย์เมคเกอร์เนื้อหอมของ แอสตัน วิลล่า ถูกส่งลงมาแทน บูคาโย่ ซาก้า ปีกวัยรุ่นของ อาร์เซน่อล ที่โชว์ฟอร์มไม่ออก ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะแท็กติกในเกมนี้ที่ แกเร็ธ เซาธ์เกต เลือกใช้งานตัวรุกแค่สามคนเท่านั้น
ระบบการเล่น 3-4-3 ที่ เซาธ์เกต เลือกส่งตัวรับลงสนามถึงแปดคน หนึ่งผู้รักษาประตู จอร์แดน พิคฟอร์ด สามกองหลัง ไคล์ วอล์คเกอร์, จอห์น สโตนส์, แฮร์รี่ แม็กไกวร์ สองวิงแบ็ก คีแรน ทริปเปียร์ กับ ลุค ชอว์ สองกองกลางซึ่งเป็นตัวรับแท้ๆ คัลวิน ฟิลลิปส์ กับ เดแคลน ไรซ์
ดังนั้นสามตัวรุกที่ถูกเลือกลงสนาม จะต้องเก๋าพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ต้องเก็บบอลให้ได้ ต้องครองบอลให้ได้ และต้องกระชากขึ้นหน้าให้ได้ ขณะที่ตัวสนับสนุนรายรอบมีน้อยกว่าสามเกมในรอบแบ่งกลุ่ม
ซาก้า อาจมีประสบการณ์น้อยในเกมใหญ่ระดับทีมชาติที่มีความกดดันขนาดนี้ แต่ถ้าใช้อาวุธเด็ดของตัวเองคือเรื่องความเร็วเล่นงานแนวรับ เยอรมนี ได้ ก็ถือว่าสอบผ่าน แต่มันไม่เป็นอย่างที่ เซาธ์เกต คิด
แฮร์รี่ เคน กัปตันทีม ยังคงทำหน้าที่ได้ดี มีส่วนร่วมกับเกมในจังหวะเก็บบอล พาบอลลุยขึ้นหน้า แม้สะสมความกดดันมาเต็มเปี่ยม จากเสียงวิจารณ์เรื่องที่คลำเป้าไม่เจอในสามเกมแรก
ราฮีม สเตอร์ลิง มีผลงานที่ดีกว่าสามเกมในรอบแบ่งกลุ่ม แม้เป็นคนเดียวที่ยิงให้ อังกฤษ สองประตูจากสามเกมแรก แต่บทบาทในเกมยังถือว่าทำได้ไม่ดีนัก
ถ้ามองฝั่งคู่แข่ง เยอรมนี ที่เล่นในระบบเดียวกัน สามตัวรุก โธมัส มุลเลอร์, ไค ฮาแวร์ตซ์, ตีโม แวร์เนอร์ ทำผลงานได้ไม่ดีนัก ดังนั้นตัวสำรองคนแรกนี่แหละ ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทั้งสองทีม
อังกฤษ เลือก กรีลิช ลงแทน ซาก้า และ เยอรมนี เลือก แซร์ช กนาบรี แทน แวร์เนอร์ ในนาทีเดียวกัน นาที 69
ช่วงแรกยังมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก ทั้ง กรีลิช และ กนาบรี ต่างทำเสียบอลไปคนละครั้งสองครั้ง แต่พอถึงนาที 75 ก็เป็น กรีลิช ที่ออกนำ กนาบรี 1-0
จังหวะเล่นเกมรุกกัน 4 คน สเตอร์ลิง ลุยขึ้นมาแล้วฝากให้ เคน แตะให้ กรีลิช ป้ายออกซ้ายให้ ลุค ชอว์ ปาดเรียดเข้ากลางให้คนที่เป็นจุดเริ่ม สเตอร์ลิง วิ่งเข้าชาร์จ
และประตูที่สองที่ กรีลิช ย้ำชัยเหนือ กนาบรี เริ่มต้นจาก ชอว์ ตัดบอลได้กลางสนาม ลุยขึ้นหน้าไหลออกซ้าย กรีลิช ครอสให้ เคน โหม่งเข้าไป
จะเห็นได้ว่า สองประตูที่เกิดขึ้นของ อังกฤษ สามแนวรุกมีส่วนร่วมทั้งหมด และมีตัวละครลับโผล่มาคือ ชอว์ ที่มีส่วนร่วมกับสองประตู และยังเด็ดขาดในเกมรับ ที่ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนเรื่องลูกกลางอากาศเลย
การเปลี่ยนระบบการเล่นจาก 4-2-3-1 มาเป็น 3-4-3 ถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า เซาธ์เกต เกรงกลัวความเป็น เยอรมนี มากกว่าคู่แข่งรอบแรกอย่าง โครเอเชีย, สกอตแลนด์, สาธารณรัฐเช็ก
แต่ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายนี่แหละ ที่จะวัดใจ เซาธ์เกต ว่าจะกลับมาเน้นเกมรุกมากขึ้นในระบบการเล่นเดิม 4-2-3-1 หรือยังชอบใจการเล่น 3-4-3 ที่อาจไม่เหมาะนักกับการเจอคู่แข่งอย่าง ยูเครน ที่ถือว่าเป็นรอง และน่าจะมาเน้นเกมรับ
จาก 4 เกมที่ผ่านมา อังกฤษ ยังไม่เสียประตูเลย และกลายเป็นทีมเดียวในยูโร 2020 จนถึงเวลานี้ที่คลีนชีตทุกเกม ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะคู่กองกลาง ไรซ์ กับ ฟิลลิปส์ ซึ่งเป็นมิดฟิลด์ตัวรับแท้ๆ ให้กับต้นสังกัด เวสต์แฮม และ ลีดส์ ที่เป็นตัวสำคัญในการตัดเกมรุกของคู่แข่งก่อนถึงแนวรับ
แต่ก็ต้องแลกมากับการสร้างสรรค์โอกาสทำประตูที่ลดลงไป ผ่านไป 4 เกม ยิงได้เพียง 4 ประตูเท่านั้น จาก สเตอร์ลิง 3 ประตู และ เคน 1 ประตู
ถ้าถามใจแฟนๆ ทรี ไลออนส์ คงอยากเห็น เซาธ์เกต กลับมาเน้นเกมรุกในระบบ 4-2-3-1 เกมเจอกับ ยูเครน ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายมากกว่า เพราะคงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะอัดตัวรับลงไปมากเหมือนเกมเจอ เยอรมนี
ที่สำคัญ เซาธ์เกต เคยมีบทเรียนแล้วจากเวิลด์คัพ 2018 รอบรองชนะเลิศที่เหนือกว่า โครเอเชีย บานเบอะและเป็นฝ่ายออกนำก่อนในครึ่งแรกด้วย แต่ทัศนคติที่ย่ำแย่บวกกับแท็กติกที่ผิดพลาด เป็นเหตุให้ อังกฤษ พลาดเข้าชิงฯ มาแล้ว
เจ็บแล้วต้องจำ และหวังว่า เซาธ์เกต คงไม่จัดทีมแบบปอดแหกเกินไปเมื่อ อังกฤษ เข้าถึงรอบลึกๆ เพราะดูจากเส้นทางแล้ว มีโอกาสทะลุเข้าชิงฯ สดใสมากๆ
และต้องไม่ลืมว่าที่ เซาธ์เกต คุม อังกฤษ มาจนถึงทุกวันนี้ได้ เพราะฝีเท้าของนักเตะคอยคุ้มกะลาหัวอยู่